“ล้างมือสักนิดเพื่อพิชิตสุขภาพ” ประโยคที่ไม่ได้พิมมาแค่ให้อ่านคล้องจองกันเท่านั้น แต่มันคือเรื่องจริง ที่ไม่มีหลักฐานอ้างอิง เพราะนายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า “จากข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ พบว่าในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วงประมาณ 3.5 ล้านคน และโรคปอดบวมประมาณ 25% เพราะฉะนั้นการล้างมือที่ถูกต้องตามวิธีบัญญัติจะเป็นการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้อีกทางหนึ่ง โดยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ถึง 50% การล้างมือจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพอนามัยที่ดี”
ในขณะที่ทั่วโลกมีความเป็นห่วงในเรื่องของการล้างมือการหยิบจับอะไรเข้าปาก แต่ประเทศไทยก็ยังน่าเป็นห่วงอยู่ เพราะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการล้างมือให้สะอาดเพียงพอ โดยนายแพทย์ประภาส จิตตาศิรินุวัตร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการสำรวจคนไทยโดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 512 คน พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีพฤติกรรมมือสะอาด คือล้างมือฟอกสบู่ติดเป็นนิสัย กระทำทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำห้องส้วม และก่อนรับประทานอาหาร 25% หรือ 1 ใน 4 คน ส่วนใหญ่คือ 72% หลังเข้าห้องน้ำจะล้างมือบ้างไม่ล้างมือบ้าง และไม่เคยล้างมือเลย 3% ซึ่ง 2 กลุ่มหลังนี้ มีความเสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อโรคต่างๆ ที่ติดมากับมือ ไปสู่คนอื่นได้
หากเราไม่ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำและก่อนทานอาหาร จะเกิดโรคอะไรขึ้นบ้างนะ กับ 8 โรคอันตรายหากไม่ “ล้างมือ”
1. โรคอุจจาระร่วง
เกิดขึ้นจากเชื้อโรคหลากหลายชนิด โดยเฉพาะ เชื้ออีโคไล ที่มาจากเชื้อแบคทีเรีย และไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่ในอุจจาระ สามารถปนเปื้อนมากับวัตดุดิบที่นำมาปรุงอาหาร และการสัมผัสจากมือที่หยิบจับอาหาร วัตถุดิบที่มีเชื้อไวรัสปะปน ไม่ได้ทำความสะอาดให้ดีพอ
2. โรคตับอักเสบชนิดเอ
และนี่คืออีกโรคที่เชื้อโรคพบอยู่ในอุจจาระ โรคตับอักเสบชนิดเอจะอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วย โดยสามารถติดต่อจากคนสู่คนโดยเชื้อเข้าสู่ปาก ซึ่งอาจมาจากการหยิบจับอาหารเข้าปากโดยตรง
3. โรคบิด
เกิดจากการไม่ทำความสะอาดมือหลังจากถ่ายอุจจาระ การแพร่เชื้อโดยการสัมผัสทางตรงกับสิ่งของต่าง ๆ หรือสัมผัสทางอ้อมกับอาหาร ส่วนการแพร่เชื้อผ่านทางน้ำและอาหารโดย แมลงสาบ และแมลงวัน เกิดขึ้นได้จากสัตว์เหล่านี้นำเชื้อมาปนเปื้อน
4. โรคอหิวาตกโรค
เกิดโดยตรงกับการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อที่มีชีวิตปนอยู่ โดยเชื้อโรคตัวนี้มีความทนทานมากสามารถอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน และผู้ที่ชอบบริโภคอาหารทะเลดิบ กึ่งดิบกึ่งสุก ก็สามารถน้ำเชื้อโรคตัวนี้เข้าสู่ร่างกายได้ และการใช้มือสัมผัสอาหารดิบ หรือน้ำที่มีเชื้อ จับต้องสัมผัสอาหารอื่นๆ รวมถึงจานชามช้อนส้อม
5. โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากระบาดมากในเด็กเล็ก เพราะติดต่อโดยการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น สัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ กับผู้ใหญ่ที่ดูแลความสะอาดของมือไม่ดีพอ ก็สามารถติดเชื้อและเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
6. โรคตาแดง
โรคตาแดงจะพบระบาดหนักในช่วงหน้าฝน แต่จริงๆ แล้วสามารถเกิดได้ทุกฤดูกาล เกิดจากการที่เยื่อบุตาติดเชื้อไวรัส กลุ่มอาดิโนไวรัส สามารถติดต่อจากการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วย และแพร่จากนิ้วมือมาติดที่ตาโดยตรง โรคตาแดงติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วย อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้ตาพิการได้
7. กลากเกลื้อน
กลาก และเกลื้อน เป็นคนละโรคกัน แต่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้ด้วยการสัมผัส โดยอาจเป็นการสัมผัสจากมือที่รอยกลากเกลื้อนโดยตรง หรือเป็นการติดเชื้อจากการสัมผัสของเชื้อราติดต่อกันจากข้างของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงสิ่งของตามสถานที่สาธารณะ
8. ไข้หวัด
อาจเป็นได้ทั้งไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้หวัดประเภทอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดต่อของเชื้อไวรัสที่มาจากการไอ จาม ละอองน้ำลายที่อาจได้รับผ่านอากาศ หรือการไอจามรดมือแล้วมือของผู้ป่วยสัมผัสกับข้างของเครื่องใช้ต่างๆ และอาจเป็นสิ่งของตามสถานที่สาธารณะ เช่น ราวจับบนรถโดยสาร เสา ลูกบิดประตู เป็นต้น
ล้างมือบ่อยแค่ไหน ถึงจะปลอดภัย
ถึงบแม้ว่าบทความนี้จะแนะนำให้ผู้อ่านล้างมือบ่อยๆ เพื่อเอาเชื้อโรคออกจากมือ หรือทำเป็นพฤติกรรม เป็นนิสัย แต่ใช่ว่าเราควรที่จะล้างมือทุกๆ 10 นาที เพราะมันคงจะดูเป็นการลำบากเกินไป และอาจทำให้มือเปื่อยและแห้งโดยไม่รู้ ดังนั้นการล้างมือจึงขอแนะนำเป็นอย่างน้อยผู้อ่านควรล้างมือบ้างในช่วงเวลาดังต่อไปนี้
• หลังเข้าห้องน้ำ ไม่ว่าจะห้องน้ำสาธารณะ หรือห้องน้ำที่บ้านตัวเอง
• ก่อนหยิบจับอาหารเข้าปากโดยตรง
• ก่อนปรุงอาหาร และรับประทานอาหาร แม้ว่าจะไม่ใช้มือจับอาหารโดยตรง แต่มือที่สัมผัสกับเชื้อโรคอาจติดไปกับอุปกรณ์ในการทำอาหาร หรือจานชามช้อนส้อมที่จะใช้ในการรับประทานอาหารได้
• หลังกลับมาจากนอกบ้าน
• หลังคลุกคลีอยู่กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรค หรือเชื้อไวรัสต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น
• ก่อนสัมผัสกับเยื่อบุผิวหนังในร่างกายของตัวเอง เช่น ล้างมือก่อนใส่คอนแทคเลนส์ ขยี้ตา แคะจมูก ดูดนิ้ว หรือสัมผัสกับแผลของตัวเอง